ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย4

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจว่าองค์การต่อต้านในประเทศจะต้องแสวงหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อทำความเข้าใจกันให้จงได้ในประเด็นที่ว่าการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ผูกพันประชาชนชาวไทยซึ่งมิได้เข้ากับญี่ปุ่นโดยสมัครใจ และเพื่อที่จะให้เป็นที่ประจักษ์ว่าไทยอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีมีความประสงค์ที่จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย ในเรื่องนี้ ในเบื้องแรกนายปรีดีได้ขอให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ออกไปเมืองจีนแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะขณะนั้น ญี่ปุ่นได้ควบคุมตรวจตราการเข้าออกประเทศไทยไว้ทุกจุด ดังนั้นตลอดปี 2485 นายปรีดีจึงไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้เลย แม้กระทั่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว สมัยที่นายดิเรก ชัยนาม ประจำอยู่ ก็ไม่สามารถจะติดต่อกับโลกภายนอกได้ จนกระทั่งเข้าปีใหม่ 2486 นายปรีดีจึงส่งผู้แทนของขบวนการใต้ดินออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้
ในการส่งผู้แทนของเสรีไทยภายในประเทศออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้เตรียมการเป็นสามเรื่องด้วยกัน คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องของภารกิจซึ่งดังที่กล่าวข้างต้นก็ประกอบด้วยการชี้แจงให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยยังคงรักษามิตรภาพกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชี้แจงว่าได้มีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นภายในประเทศซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการเป็นหัวหน้า โดยประสงค์จะเล็ดลอดออกไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเป็นรัฐบาลเสรีไทยขึ้นในอินเดียและขอให้อังกฤษและสหรัฐฯ ปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ในประเทศทั้งสอง เพื่อรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นจะได้ใช้จ่ายในการทำสงครามกู้ชาติร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร สำหรับเรื่องที่ 2 ก็คือเส้นทางการเดินทางของผู้แทนที่จะส่งออกไปนอกประเทศ ซึ่งกำหนดให้ออกจากไทยทางอีสานผ่านลาวไปญวน และจากนั้นก็เข้าประเทศจีนทางด้านเมืองมองกาย-ตงเฮ้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่นักธุรกิจใช้กันอยู่ เมื่อเข้าไปในจีนแล้วก็ให้ผู้แทนส่งโทรเลขถึงจอมพล เจียงไคเช็ค ดร. ที.วี. ซุง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งว่าได้เล็ดลอดออกมาจากประเทศไทยในภารกิจที่มีความสำคัญยิ่ง และขอให้ส่งไปจุงกิงเพื่อพบปะและรายงานตัวกับผู้นำของจีน และทูตอังกฤษและสหรัฐฯ ในจุงกิง หลังจากนั้นก็ให้ผู้แทนที่จะส่งออกไปทำการนัดหมายประชุมร่วมกันในกรุงลอนดอนระหว่างผู้แทนขบวนการใต้ดินจากเมืองไทยกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และบรรดาข้าราชการอังกฤษและสหรัฐฯ ที่เคยประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ นาย วิลิส เพ็ก อดีตอัครราชทูตสหรัฐ นายเฟรเดอริก-อาร์ ดอลแบร์ ชาวอเมริกันที่เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศของไทย เซอร์ โจไซอา ครอสบี้ อดีตอัครราชทูตอังกฤษ และนายดับลิว.เอ.เอ็ม ดอลล์ อดีตที่ปรึกษากระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนอังกฤษ กล่าวคือทั้งหมดนี้เป็นผู้ที่รู้จักและคุ้นเคยกับนายปรีดี พนมยงค์ การประชุมดังกล่าวก็มุ่งที่จะให้ภารกิจทั้งสองประการข้างต้นประสบความสำเร็จ
สำหรับเรื่องที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนของขบวนการใต้ดินออกไปปฏิบัติภารกิจที่ยากลำบากและมีความสำคัญต่อประเทศชาติ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ ประการแรก จะต้องเป็นบุคคลที่สมัครใจไปปฏิบัติภารกิจซึ่งเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งแน่นอนจะต้องเป็นผู้มีอุดมการณ์ มีความรักชาติ และมีความพร้อมที่จะเสียสละแม้กระทั่งชีวิต ประการที่ 2 จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจระดับชาติหรือระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประการสุดท้าย จะต้องเป็นบุคคลที่จะได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากบรรดาบุคคลที่จะต้องไปติดต่อด้วย เป็นที่เข้าใจว่านายปรีดี พนมยงค์ คงจะใช้เวลานานพอสมควรในการเลือกบุคคลซึ่งจะมอบหมายภารกิจของชาติให้ไปปฏิบัติ และสุดท้ายก็ได้เลือกนายจำกัด พลางกูร คนหนุ่มวัย 27 ปี บัณฑิตเกียรตินิยมจากบัลลิโอลคอลเลจ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หนึ่งในจำนวนสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านภายในประเทศและเป็นผู้ที่รู้จัก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นส่วนตัว และมีน้องชายร่วมสายโลหิตกำลังศึกษาอยู่ทั้งในอังกฤษ (ดร. กำแหง) และในสหรัฐฯ (ดร. บรรเจิด) ถึงแม้นายจำกัดจะมีอายุน้อย และมิได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งปวง แต่ก็จะหาผู้ใดที่จะเหมาะสมโดยคุณสมบัติยิ่งไปกว่าเขาได้ยาก นายปรีดี พนมยงค์ ส่งนายจำกัดออกไปเมืองจีนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2486
นายจำกัด พลางกูร ได้บากบั่นปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจนกระทั่งเป็นผลสำเร็จ กล่าวคือแม้จะไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นในอินเดียได้ แต่เขาก็ได้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ได้รับทราบว่าได้มีขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า ที่พร้อมจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามกับญี่ปุ่น ข้อมูลที่นายจำกัดได้นำออกมาจากประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในทางการเมืองมากกว่าทางการทหาร เป็นที่สนใจของบรรดาหน่วยปฏิบัติการลับของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรและหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการเมืองและความสัมพันธ์ต่างประเทศ สถานทูตอังกฤษและสถานทูตสหรัฐฯ ในจุงกิงได้รายงานเรื่องนายจำกัดและองค์การต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทยไปยังรัฐบาลที่กรุงลอนดอนและกรุงวอชิงตัน อย่างไรก็ตามทางด้านอังกฤษให้ความสนใจในประโยชน์ขององค์การใต้ดินภายในประเทศไทยในแง่การทหารเป็นเบื้องแรก ทั้งนี้เพราะอังกฤษกำลังทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ความสนใจของอังกฤษมุ่งไปที่ว่าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นที่จัดตั้งขึ้นในไทยจะอำนวยประโยชน์ในทางทหารให้แก่อังกฤษได้อย่างไรและมากน้อยเพียงใด ในการนี้อังกฤษได้ส่ง พ.ต. ม.จ. ศุภสวัสดิวงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ สมาชิกอาวุโสของเสรีไทยสายอังกฤษ ซึ่งประจำอยู่ในกองทัพบกอังกฤษ เดินทางจากอินเดียไปยังจุงกิงเพื่อพบกับนายจำกัด พลางกูร ม.จ. ศุภสวัสดิฯ พร้อมด้วย พ.ต. ครุต อดีตผู้จัดการบริษัทไฟฟ้าวัดเลียบ ได้พบนายจำกัดในจุงกิงในเดือนสิงหาคม 2486 ที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ
ม.จ. ศุภสวัสดิฯ ทรงได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์หลายประการจากนายจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเชื่อว่านายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์ เป็นผู้รักชาติ เป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความยุติธรรม และเป็นผู้เลื่อมใสในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อได้เชื่อว่าในประเทศไทยมีองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งประสงค์ที่จะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเป็นองค์การที่มีบุคคลระดับสูงสุดที่เชื่อถือได้เป็นผู้นำ พ.ต. อรุณหรือ ม.จ. ศุภสวัสดิฯ ก็ได้ดำเนินการประสานการปฏิบัติการของกองกำลัง 136 ของอังกฤษกับเสรีไทยภายในประเทศไทย โดยได้จัดหาคนเดินสารจากเมืองจีนไปพบนายปรีดีในกรุงเทพฯ ซึ่งถือหนังสือนัดหมายให้องค์การต่อต้านในประเทศไทยจัดการรับนายทหารเสรีไทยซึ่งจะเดินทางโดยเรือดำน้ำมาขึ้นบกที่พังงาในเดือนธันวาคมของปีนั้น อย่างไรก็ตาม กว่าที่ผู้เดินสารจะนำหนังสือมามอบให้นายปรีดี พนมยงค์ ในกรุงเทพฯ ได้ ก็เข้าไปกลางปี 2487 คือภายหลังวันนัดหมายหลายเดือน ซึ่งทำให้ปฏิบัติการ พริชาร์ด ของกองกำลัง 136 ที่จะส่งนายทหารเสรีไทยเข้าประเทศไทยโดยทางเรือดำน้ำประสบความล้มเหลว ด้วยความมั่นใจในองค์การฯ ในประเทศไทย กองกำลัง 136 ของอังกฤษก็ได้พยายามส่งเสรีไทยสายอังกฤษเข้าประเทศไทยอีก โดยการกระโดดร่มจากเครื่องบินภายใต้ปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่นถึงสองชุด
ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษที่ได้รับมอบหมายจากกองกำลัง 136 ให้เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น ภายหลังที่ปฏิบัติการพริชาร์ด ซึ่งก็มี ร.ต. ป๋วยเป็นหัวหน้าชุดเช่นกัน ได้ถูกยกเลิกไป เพราะไม่มีผู้มาคอยรับที่ชายฝั่ง เหตุผลที่ ร.ต. ป๋วยได้ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าชุด ก็มิใช่เพียงว่าเป็นผู้อาวุโสและมีบุคลิกเป็นผู้นำเท่านั้น แต่เนื่องจาก ร.ต. ป๋วยเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และเป็นนักเรียนทุนกระทรวงการคลัง ซึ่งมีนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าว ที่สำคัญก็คือ นายปรีดีเคยรู้จัก ร.ต. ป๋วยมาบ้าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็ทราบดีว่า ร.ต. ป๋วยเป็นใคร ทางกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตามีความหวังอย่างยิ่งว่าชุดเสรีไทยภายใต้การนำของ ร.ต. ป๋วยจะสามารถประสานงานกับขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้เป็นอย่างดี และด้วยเครื่องรับ-ส่งวิทยุที่มีติดตัวเข้าไปด้วย คณะแอพพรีซิเอชั่นจะสามารถส่งข่าวออกมาจากประเทศไทยได้