วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย12

โดยความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะกระตุ้นให้อังกฤษมีจุดยืนเดียวกับสหรัฐฯ ในเรื่องของประเทศไทย หากเรื่องนี้เป็นความลับที่มิได้มีการแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบรวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ด้วย จุดยืนดังกล่าวนี้ก็คือการรับรองเอกราชและอธิปไตยของไทยภายหลังสงคราม ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม และหลักฐานที่เป็นเอกสารต่าง ๆ เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยภายหลังที่สงครามได้ผ่านไปแล้วหลายสิบปี รัฐบาลอังกฤษก็เห็นชอบด้วยหลักการ แต่เนื่องจากอังกฤษถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู โดยได้มีการประกาศสงครามต่อกัน อีกทั้งอังกฤษได้รับความเสียหายในหลายด้านจากการที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่ออังกฤษ ดังนั้นถึงแม้ว่าอังกฤษจะไม่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องทำการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในฐานะผู้แพ้สงคราม หากอังกฤษก็ประสงค์จะให้ไทยยอมรับเงื่อนไขบางประการที่ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงเลิกสถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างกันและกลับเป็นมิตรที่ดีต่อกันเช่นเมื่อก่อนสงคราม
ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของสงคราม การประสานงานระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรก็มีความแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ มีศูนย์ประสานปฏิบัติการต่าง ๆ ของตนในกรุงเทพฯ โดยพลจัตวา วิคเตอร์ เจคส์ และ พ.ต. ม.จ. ศุภสวัสดิฯ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานด้านอังกฤษและ พ.ต. ริชาร์ด กรีนลี่ และ พ.ต. โฮเวิร์ด ปาล์เมอร์ ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ไซเรน ของ โอ.เอส.เอส. นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถขยายขอบเขตของปฏิบัติการเสรีไทย ตลอดจนบุคลากรที่เข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการฯ เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ บรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสามเหล่าทัพได้เข้ามาร่วมงานเสรีไทยทั้งโดยทางตรงและในทางอ้อมภายใต้การประสานงานของ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา นอกจากนั้นตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งหมดก็มีบทบาทสำคัญ ทั้งในด้านข่าวกรอง และในด้านกำลังของเสรีไทย ในขณะเดียวกัน พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ สารวัตรใหญ่ทหารผู้ซึ่งได้เข้าร่วมรับใช้ชาติในงานเสรีไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2487 ก่อน พล.ต.อ. อดุลประมาณสองเดือน ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรและโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นยุวชนนายทหารอยู่แล้ว และนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาและนักเรียนเตรียมปริญญาซึ่งเป็นยุวชนนายสิบ เข้าเป็นนักเรียนของทั้งสองโรงเรียนข้างต้นตามลำดับ จำนวนรวมกันทั้งสิ้นเกือบ 700 นาย บุคลากรของกรมสารวัตรทหารเหล่านี้และที่จะรับสมัครเพิ่มขึ้นต่อไป ได้รับการฝึกอาวุธทันสมัยของสหรัฐฯ โดยครูฝึกที่เป็นทั้งทหารอเมริกันและนายทหารเสรีไทยสายอเมริกา ถ้าแม้นถึงเวลาที่ไทยจะต้องเปิดฉากสู้รบกับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยในเขตกรุงเทพมหานคร บรรดานักเรียนนายทหารสารวัตรและนักเรียนนายสิบสารวัตรทหารดังกล่าวนี้ ซึ่งแต่เดิมมีวัตถุประสงค์จะส่งไปทำหน้าที่ผู้บังคับบัญชาพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติเป็นหน่วยแรก
ในเดือนสิงหาคม 2488 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของสงครามนั้น มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจากศูนย์ปฏิบัติการ 404 โอ.เอส.เอส. และกองกำลัง 136 ของอังกฤษเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยประมาณ 50 นาย และสัมพันธมิตรได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์โดยการทิ้งร่มลงมาให้แก่พลพรรคเสรีไทยเป็นน้ำหนักประมาณ 200 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาวุธประจำตัวพลรบ เช่น ปืนยิงเร็ว ปืนกลมือ ปืนพก และลูกระเบิดมือ สงครามได้สงบลงในระหว่างที่ความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตรกำลังทยอยเข้ามาไม่ขาดระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการขนส่งกระทำได้สะดวกโดยเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ของสัมพันธมิตรสามารถขึ้นลงสนามบินลับของเสรีไทยที่ได้สร้างขึ้นในหลายพื้นที่ และที่ได้ใช้ประโยชน์มากที่สุดในตอนปลายสงครามก็คือ สนามบินภูเขียว ที่ชัยภูมิ ซึ่งเครื่องบินลำเลียง ซี. 47 สามารถขึ้นลงได้ตลอดเวลา พ.ต. นิคอล สมิธ จาก โอ.เอส.เอส. ซึ่งเคยรับผิดชอบดูแลนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่ฐานปฏิบัติการซือเหมาในจีน ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยทางสนามบินภูเขียวนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 และได้กลับออกไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นอกจากจะเข้ามาเพื่อประเมินขีดความสามารถและความพร้อมของกำลังเสรีไทยในประเทศแล้ว นิคอล สมิธ ยังได้รับมอบหมายจากกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรฯ ให้พยายามยับยั้งนายปรีดี พนมยงค์ มิให้ลงมือปฏิบัติการสู้รบกับญี่ปุ่นจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากจอมพลเรือเมานท์แบตเทน พ.ต. สมิธได้กล่าวถึงความประทับใจในบุคลิกภาพและบทบาทของนายปรีดี ตลอดจนในตัวบุคคลต่าง ๆ และปฏิบัติการเสรีไทยภายในประเทศไว้ในหนังสือ สู่สยาม ประเทศใต้ดิน ของเขา
ในวันที่ 6 สิงหาคม 2488 เครื่องบินสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงที่นครฮิโรชิมา ทำลาย 220,000 ชีวิต และต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม ก็ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ลงที่นครนางาซากิ มีราษฎรญี่ปุ่นเสียชีวิตอีก 4 หมื่นคน ผู้นำประเทศสัมพันธมิตรจากที่ประชุมสุดยอดที่ปอตสดัมในเยอรมนีได้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี กันตาโร ซูซูกิ ของญี่ปุ่น ให้ยอมจำนนประมาณสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้นว่า ถ้าหากญี่ปุ่นยังไม่ยอมจำนนก็จะถูกทำลายย่อยยับ แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ ภายหลังวันที่ 9 สิงหาคม ญี่ปุ่นได้ขอเจรจาสงบศึกผ่านรัฐบาลสเปน ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้แจ้งผ่านสเปนไปว่าญี่ปุ่นจะต้องยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลญี่ปุ่นขอต่อรองว่าขอให้สถาบันพระจักรพรรดิคงดำรงอยู่ภายหลังการยอมจำนน ซึ่งสุดท้ายก็ตกลงกันว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงฟังคำสั่งของผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรที่จะไปยึดครองญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นยอมจำนนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม
ในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 เวลา 15.00 น. ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 3 นาฬิกา เวลาในกรุงเทพฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจมส์ เบิร์นส์ ของสหรัฐฯ ได้ส่งโทรเลขถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงลอนดอน มีข้อความดังนี้คือ
สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งเราว่า
(ก) กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้อนุญาตเมานท์แบตเทนแนะนำเป็นส่วนตัวมายัง รูธ’ (นายปรีดี พนมยงค์) ให้ประกาศโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษ และสหรัฐฯ อีกทั้งมาตรการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการนั้นที่ดำเนินไปเป็นที่เสียหายแก่สัมพันธมิตร ยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงอย่างอื่นทั้งสิ้นกับญี่ปุ่น ให้ประเทศไทยและกองกำลังทหารไทยอำนวยความช่วยเหลือสัมพันธมิตร และแถลงว่าพร้อมที่จะส่งผู้แทนไปยังแคนดีทันทีเพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตร อังกฤษได้เสนอว่าประกาศนั้นอาจกล่าวด้วยก็ได้ว่า รูธ ได้แจ้งแก่รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ ตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ แล้วว่าขบวนการเสรีไทยประสงค์ที่จะริเริ่มปฏิบัติการต่อสู้ศัตรูอย่างเปิดเผย และที่ยับยั้งไว้ก็เพราะคำร้องขออย่างจริงจังของสัมพันธมิตรด้วยเหตุผลในเชิงปฏิบัติการทางทหาร
(ข) กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้แจ้งเมานท์แบตเทนด้วยว่า ถ้าหาก รูธ ริเริ่มดำเนินการที่จำเป็นตามที่ได้รับคำแนะนำดังกล่าว อังกฤษก็พร้อมแล้ว เนื่องจากความสนับสนุนของเสรีไทยที่ให้แก่สัมพันธมิตร และการที่สัมพันธมิตรได้ขอร้องมิให้เสรีไทยลงมือปฏิบัติการสู้รบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในอันที่จะไม่บังคับไทยให้ปฏิบัติการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ย่อมถือว่าการนั้นเป็นกระบวนการโดยปรกติวิสัย และอังกฤษจะปรับนโยบายของตนไปตามความพร้อมของไทยที่จะชดใช้ความเสียหายในอดีต และความร่วมมือซึ่งกันและกันต่อไปในอนาคต
(ค) ถ้าหาก รูธปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นและจัดส่งผู้แทนไบ่แคนดี ทางอังกฤษเสนอว่าจะได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนที่จะเริ่มต้นเจรจากับฝ่ายไทยในเรื่องเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไทยจะพร้อมปฏิบัติเพื่อยุติสถานะสงคราม
(ลงนาม) เบิร์นส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น