วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย10

สำหรับการปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ได้มีการแบ่งเขตปฏิบัติการระหว่างอังกฤษและอเมริกา อังกฤษจะปฏิบัติการอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา นครพนม สกลนคร เลย ตาก ระนอง อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ขณะที่อเมริกาจะอยู่ที่แพร่ เชียงราย สุโขทัย อุดรธานี สกลนคร อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาญจนบุรี อ่างทอง อยุธยา ระยอง ชลบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และเพชรบุรี ในเขตจังหวัดเหล่านี้ในตอนปลายสงครามจะมีทั้งเสรีไทยและนายทหารสัมพันธมิตรร่วมปฏิบัติงานกันอยู่ทุกพื้นที่ โดยงานส่วนใหญ่ก็คือการฝึกอาวุธพลพรรคฯ และการส่งข่าวกรอง ในบางพื้นที่ เครื่องบินสัมพันธมิตรจะมาทิ้งร่มอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย เช่นที่ ชลบุรี ระยอง และเพชรบุรี เป็นต้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้สมาชิกระดับอาวุโสของขบวนการเสรีไทยแบ่งภาระและความรับผิดชอบดำเนินการในแต่ละพื้นที่ โดยประสานกับทางสัมพันธมิตร และร่วมมือกับนายทหารเสรีไทยผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการนั้น สมาชิกอาวุโสของขบวนการเสรีไทยซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคก็มีอาทิ นายเตียง ศิริขันธ์ นายพึ่ง ศรีจันทร์ นายทอง กันทาธรรม และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นนายปรีดีก็ยังได้มอบหมายความรับผิดชอบให้แก่ข้าราชการฝ่ายปกครองที่ไว้วางใจได้อีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นายอุดม บุญประกอบ นายปรง พหูชนม์ นายสุวรรณ รื่นยศ ฯลฯ ให้ควบคุมดูแลปฏิบัติการเสรีไทยในส่วนภูมิภาค อันได้แก่ การฝึกพลพรรค การเก็บรักษาและแจกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ การสร้างสนามบินลับ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปฏิบัติการทางทหารทั้งสิ้น
ความมุ่งหมายในด้านปฏิบัติการทางทหารของนายปรีดี พนมยงค์ ก็คือการสร้างขีดความสามารถของพลพรรคเสรีไทย ตลอดจนความพร้อมในอันที่จะลงมือสู้รบกับทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างเปิดเผย ในประเด็นว่าด้วยการสู้รบนี้ เป็นที่แน่นอนว่านายปรีดีมิได้มุ่งหวังในชัยชนะถึงขั้นที่จะขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้พ้นไปจากประเทศไทยด้วยตระหนักดีว่าญี่ปุ่นมีกำลังมหาศาล ซึ่งแม้นว่าจะอ่อนเปลี้ยลงไปมาก แต่ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่พลพรรคเสรีไทย หรือแม้กระทั่งกองทัพไทยเป็นส่วนรวมจะเอาชนะได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือการให้ความสนับสนุนแก่กองทัพสัมพันธมิตรที่จะเผด็จศึกด้วยกำลังทั้งทหารและอาวุธที่เหนือกว่าญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่แคนดีก็วางแผนปฏิบัติการดังกล่าวอย่างรอบคอบ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้การสูญเสียมีน้อยที่สุดในการสู้รบ ทั้งนี้โดยสัมพันธมิตรได้มีประสบการณ์ที่ได้รับชัยชนะโดยแลกกับความสูญเสียมหาศาล จากการกวาดล้างญี่ปุ่นตามเกาะต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ การเอาชนะญี่ปุ่นย่อมหมายถึงการปลดปล่อยพม่า ประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ในอินโดจีน รวมทั้งแหลมมลายูและดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ซึ่งรวมกันเป็นพื้นที่กว้างขวาง โดยญี่ปุ่นได้วางกองกำลังไว้ทุกจุด ในช่วงระยะหนึ่งเมื่อต้นปี 2488 ลอร์ดเมานท์แบตเทนได้อนุมัติให้ฝ่ายเสนาธิการจัดทำรายละเอียดของปฏิบัติการโรเจอร์ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะมีการยกพลขึ้นบกที่ภูเก็ต และจะใช้ภูเก็ตเป็นฐานปฏิบัติการทางอากาศเพื่อทำลายเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศของญี่ปุ่นให้หมดสิ้น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่สัมพันธมิตรจะเปิดฉากการรุกใหญ่ ณ จุดใดก็ตาม ญี่ปุ่นจะไม่สามารถเคลื่อนกำลังจากจุดหนึ่งไปป้องกันจุดอื่นได้เลย ปฏิบัติการโรเจอร์ซึ่งต้องการความสนับสนุนในด้านข่าวกรองจากฐานปฏิบัติการเสรีไทยในภาคใต้และซึ่งกำหนดในเบื้องต้นว่าจะลงมือประมาณเดือนพฤษภาคม 2488 ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด นายปรีดีได้รอโอกาสที่ขบวนการเสรีไทยจะลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้นปี 2488 หากทางสัมพันธมิตรก็ยังไม่พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการเพราะไม่ปรารถนาจะเห็นความสูญเสียมากเกินกว่าที่จำเป็น
ความจริง ความมุ่งหมายของนายปรีดี พนมยงค์ มิได้อยู่ที่ชัยชนะหรือความได้เปรียบของกองกำลังเสรีไทยในการต่อสู้กับญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากกำลังของเสรีไทยหรือแม้ของกองทัพไทยมีไม่พอเพียงสำหรับการนั้นดังกล่าวข้างต้น นายปรีดีมีความมุ่งหมายในด้านการเมือง กล่าวคือมีความประสงค์ที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารของขบวนการเสรีไทยเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่สัมพันธมิตรว่าประเทศไทยและคนไทยมีความรักและหวงแหนเอกราชและอธิปไตย และยอมเสียสละเพื่อสิ่งดังกล่าวโดยความเต็มใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายปรีดีประสงค์ที่จะลบล้างความเข้าใจของสัมพันธมิตรที่ว่าไทยมิได้ต่อสู้เมื่อถูกรุกรานโดยญี่ปุ่น และการนั้นได้นำความเสียหายไปสู่อังกฤษอย่างมาก จนกระทั่งทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม ซึ่งในปี 2487- 2488 เป็นที่แน่นอนว่าสัมพันธมิตรจะต้องเป็นฝ่ายชนะ โดยญี่ปุ่นและพันธมิตรของญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายแพ้ นายปรีดีต้องการจะพิสูจน์แก่ชาวโลกว่า ไทยต่อสู้ภายใต้อุดมการณ์เดียวกับสหประชาชาติ ซึ่งถ้าแม้นเมื่อญี่ปุ่นบุก จะไม่มีโอกาสเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลครั้งนั้นได้สั่งระงับการต่อสู้เสียก่อน หากไทยก็ได้สูญเสียไปมิใช่น้อยจากการต่อสู้ตอนนั้น บัดนี้ไทยต้องการจะพิสูจน์อีกครั้งโดยมิให้มีข้อสงสัยใด ๆ อีกต่อไป นายปรีดี พนมยงค์ เชื่อว่าการพิสูจน์ของไทยจะฟื้นฟูภาพพจน์ของประเทศชาติและจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดสำหรับเอกราชและอธิปไตยของไทยภายหลังสงคราม ด้วยความมุ่งหมายที่จะบรรลุผลทางการเมืองดังกล่าวนี้ นายปรีดีจึงได้ทุ่มเทความสนับสนุนของขบวนการเสรีไทยต่อปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกา และขณะเดียวกันก็เตรียมให้พร้อมในอันที่จะลงมือปฏิบัติการทางทหารโดยขบวนการเสรีไทยเอง นายปรีดี พนมยงค์ วิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาได้ถูกต้องและแม่นยำทุกประการ สัจธรรมได้ปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดว่าปฏิบัติการทางทหารของเสรีไทยในทุกแง่และทุกระดับ ได้ช่วยรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้สำเร็จ ด้วยความประทับใจในปฏิบัติการทางทหารของเสรีไทย สัมพันธมิตรได้รับรองเอกราชและอธิปไตยของไทยภายหลังสงคราม โดยประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และไทยไม่ต้องถูกยึดครอง
ในช่วงปลายสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่นาซีเยอรมันได้ตกเป็นฝ่ายถอยจนกระทั่งใกล้จะยอมจำนน ความวิตกกังวลของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงครามได้ทวีขึ้น ทางด้านสหรัฐอเมริกา แม้นจะได้มีการแสดงท่าทีในหลายโอกาสที่ยืนยันความเป็นเอกราชและอธิปไตยของไทย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะยึดถือได้อย่างเป็นทางการว่าสหรัฐฯ จะไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ยิ่งไปกว่านั้น ทางอังกฤษก็ยังปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมเจรจาในเรื่องการเมืองกับนายปรีดี พนมยงค์ นายปรีดีได้ตัดสินใจส่งบุคคลต่าง ๆ ไปกรุงวอชิงตัน เพื่อช่วยเหลือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดำเนินการในหลายด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทย บุคคลแรกที่นายปรีดีส่งไปกรุงวอชิงตันคือนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล หัวหน้ากองการเมือง กรมการเมืองตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ซึ่งเคยไปประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ในคณะของนายดิเรก ชัยนาม ในเบื้องแรก นายปรีดีต้องการให้นายทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายกนต์ธีร์เดินทางไป หากนายทวีมีสุขภาพไม่สมบูรณ์พอ จึงได้ให้นายกนต์ธีร์ทำหน้าที่ดังกล่าว ภารกิจที่นายปรีดีมอบหมายให้นายกนต์ธีร์รับไปปฏิบัติก็คือ ไปสมทบกับ ม.ร.ว. เสนีย์ยกเรื่องเจรจาเป็นทางการกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม แต่ความมุ่งหมายจริง ๆ อยู่ที่การหาทางให้อังกฤษเปิดเผยท่าทีเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยให้แน่ชัดก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนน โดยอย่างน้อยที่สุดก็ให้เคารพในเอกราชและอธิปไตยของไทย ทั้งนี้โดยไทยพร้อมที่จะคืนดินแดนในมลายูและพม่าให้ ตลอดจนชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ นายกนต์ธีร์ออกเดินทางไปโดยเครื่องบินทะเลลำที่นำคณะนายทหารอเมริกันชุดแรกเข้าประเทศไทยในคืนวันที่ 26 มกราคม 2488 นายสงวน ตุลารักษ์ ได้สมทบไปกับนายกนต์ธีร์จากแคนดี และทั้งสองก็ได้ร่วมกับสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เปิดการเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2488 โดยเริ่มต้นด้วยการรื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นมาเป็นประเด็น แต่ทั้งทางสหรัฐฯ และทางอังกฤษก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว โดยเห็นว่าขณะนี้ทางอังกฤษและสหรัฐฯ ก็ติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้โดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องมีรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นมาให้เกิดความสับสน ถ้าหากจะมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นแล้ว ก็ควรจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในดินแดนไทยที่กองทัพสัมพันธมิตรได้ทำการปลดปล่อยแล้ว จะเหมาะสมกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น