วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย13

ก่อนหน้านั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษก็ได้ส่งโทรเลขแจ้งจอมพลเรือลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ตามข้อความในหลักฐานข้างต้น และลอร์ดหลุยส์ฯ ก็ได้รีบส่งโทรเลขแจ้งนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนายปรีดีได้รับในวันที่ 15 สิงหาคม คำแนะนำของเมาน์ทแบตเทนด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งได้ประสานกับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว มีความหมายดังนี้คือ
1.               อังกฤษมีความประทับใจอย่างยิ่งในปฏิบัติการต่าง ๆ ของขบวนการเสรีไทยและในความสุจริตจริงใจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ที่ให้ความสนับสนุนที่มีประโยชน์ยิ่งแก่การทำสงครามต่อญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งการแสดงความจำนงอย่างจริงจังของนายปรีดี ที่จะลงมือปฏิบัติการสู้รบกับญี่ปุ่นโดยเปิดเผยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2488 หากทางสัมพันธมิตรได้ยับยั้งเอาไว้
2.               ด้วยความประทับใจดังกล่าว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร และรัฐบาลอังกฤษพร้อมที่จะไม่ถือว่าประเทศไทยแพ้สงคราม และจะต้องทำการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เฉกเช่นประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหลาย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการนี้ อังกฤษจึงแนะนำให้นายปรีดี พนมยงค์ ประกาศสันติภาพทันทีที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ โดยบอกปฏิเสธการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ ที่กระทำเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 และยกเลิกข้อตกลงที่ไทยทำไว้กับญี่ปุ่นทั้งหมด (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษและเครือจักรภพบางประเทศยังคงอยู่ เพราะมีการประกาศสงครามตอบ ดังนั้นให้ไทยส่งผู้แทนไปทำความตกลงเลิกสถานะสงครามโดยทันทีที่แคนดี ลังกา และในการนั้น ไทยจะต้องยอมชดใช้ความเสียหายให้แก่อังกฤษบ้าง โดยหลังจากนั้นแล้วก็จะได้ร่วมมือกันต่อไปในอนาคต โทรเลขให้คำแนะนำจากเมานท์แบตเทนดังกล่าวนี้คือผลสำเร็จโดยสมบูรณ์ของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ นั่นคือไทยไม่เสียเอกราชและอธิปไตย ไม่ต้องยอมจำนน ไม่ต้องวางอาวุธ และไม่ต้องถูกยึดครอง สำหรับการที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งการต้องคืนดินแดนที่ญี่ปุ่นมอบให้ทั้งทางด้านมลายูและทางด้านสหรัฐไทยใหญ่ ก็ต้องถือเป็นเรื่องที่สมควร เพราะความเสียหายของสัมพันธมิตรก็ดี และดินแดนที่ไทยได้มาระหว่างสงครามก็ดี เป็นผลจากการที่ไทยเข้าร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตร ดังนั้นเมื่อจะบอกปฏิเสธการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสัมพันธมิตร ก็จำเป็นจะต้องยอมรับภาระเหล่านี้ เพราะจะคิดเอาแต่ได้ด้านเดียวคงจะไม่ถูกต้อง
ทันใดที่ได้รับสาส์นของ ลอร์ด เมานท์แบตเทน นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เชิญ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีสั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มาปรึกษาเพื่อที่จะประกาศสันติภาพ และเห็นควรว่าจะเป็นประกาศพระบรมราชโองการ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯ ในพระปรมาภิไธยฯ และนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อตกลงกันแล้ว ก็ได้ติดต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมสภาฯ เป็นการด่วนในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้อ่านประกาศสันติภาพ มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า
การประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกับประกาศสันติภาพนั้นเป็นเอกฉันท์
ในวันที่ 25 กันยายน 2488 พลพรรคเสรีไทยจำนวนประมาณ 8,000 นายจากทั่วประเทศได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเป็นประธาน การสวนสนามของเสรีไทยมีวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากการฉลองความสำเร็จของภารกิจเพื่อชาติก่อนที่จะสลายตัวแล้ว ก็ยังเพื่อแสดงให้เห็นว่าบรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ได้รับจากสัมพันธมิตรยังอยู่ครบไม่สูญหาย อีกทั้งเพื่อแสดงความพร้อมในการสู้รบเมื่อถึงเวลา อาวุธของเสรีไทยเหล่านี้ได้นำไปเก็บไว้ที่กรมสรรพาวุธทหารบกเป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่มีจำนวนหนึ่งที่ได้ถูกส่งไปช่วยงานกู้ชาติญวน ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช นายปรีดี พนมยงค์ มีความเชื่อว่าการเป็นเอกราชและมีอิสรภาพของลาว เขมร และญวน มีความหมายและความสำคัญต่อประเทศไทย จึงได้ให้ความสนับสนุนด้วยความเห็นอกเห็นใจแก่งานกู้ชาติของชาวอินโดจีนผู้รักชาติทั้งมวล
ในวันเดียวกัน ภายหลังการสวนสนาม ณ สโมสรมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวคำปราศรัยแก่บรรดาผู้แทนพลพรรคเสรีไทย มีสาระสำคัญว่า
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวลวัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนไขเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมาผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง คำปราศรัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสลายตัวของขบวนการเสรีไทย ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งขบวนการเสรีไทยได้ใช้ประโยชน์ไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ สรุปว่าการใช้ประโยชน์เป็นไปโดยสุจริตและมีหลักฐานตามความจำเป็นทุกกรณีโดยถูกต้อง
การสลายตัวของขบวนการและพลพรรคเสรีไทยในเวลาค่อนข้างจะรวดเร็วภายหลังที่ได้เอกราชและอธิปไตยคืนมานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ประสงค์จะให้เกิดข้อครหาว่ามีการฉกฉวยโอกาสรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้โดยอ้างความรักชาติบังหน้า ดังนั้นเมื่อภารกิจในการรับใช้ชาติในบริบทของเสรีไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ขบวนการเสรีไทยก็ต้องสลายตัวไปโดยมิรอช้า นายปรีดีมีความเชื่อว่าความรักชาติย่อมพิสูจน์จากการกระทำเท่านั้น มิใช่โดยคำพูด
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จในภารกิจเสรีไทย ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในระดับความเป็นความตายของชาติ และเกี่ยวโยงกับนโยบายและการตัดสินใจของประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนนับเป็นหมื่น ๆ คนที่มีความแตกต่างกันในภูมิหลังที่จะต้องหล่อหลอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อมุ่งความสำเร็จในเป้าประสงค์เดียวกัน ทั้งนี้โดยยังมิต้องกล่าวถึงการปฏิบัติภารกิจท่ามกลางอันตรายรอบด้านและมีความเสี่ยงสูง ก็จำต้องยอมรับว่านายปรีดี พนมยงค์ มีสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ความถูกต้องถ่องแท้ในวิจารณญาณและการตัดสินใจ ตลอดจนความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของชาติเป็นส่วนรวมอย่างหาที่เปรียบได้ยาก อย่างไรก็ดี สำหรับความสำเร็จของนายปรีดี พนมยงค์ ในปฏิบัติการเสรีไทยนั้นน่าจะเนื่องจากเหตุผลสำคัญห้าประการคือ
1.               ความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวางลึกซึ้งของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าสัมพันธมิตรจะชนะและญี่ปุ่นจะต้องแพ้สงครามอย่างแน่นอนซึ่งเป็นการคาดการณ์ตั้งแต่วันแรกของสงคราม และอาศัยการวิเคราะห์ศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำสงครามของคู่สงครามเป็นหลัก
2.               ความเด็ดเดี่ยวและความกล้าหาญของนายปรีดี พนมยงค์ ในการปฏิบัติภารกิจที่ต่อเนื่องเป็นเวลาถึงสี่ปีอย่างเคร่งเครียด โดยไม่ท้อถอยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่รู้ตัวดีว่าเป็นงานที่มีอันตรายถึงชีวิตในขณะหนึ่งขณะใด
3.               ความมั่นคงในอุดมการณ์และในความรักชาติบ้านเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย
4.               ประสบการณ์ของนายปรีดีเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร การบริหารองค์กร ตลอดจนการรักษาความลับขององค์กร
5.               การเลือกเฟ้นผู้ร่วมงานที่เหมาะสม คือเป็นผู้กล้าหาญ มั่นคงในอุดมการณ์ ขีดความสามารถสูง และมีความจงรักภักดี ตลอดจนรู้จักการรักษาความลับมิให้แพร่งพรายออกไป เช่น นายทวี บุณยเกตุ นายดิเรก ชัยนาม นายวิจิตร ลุลิตานนท์ น.อ. บุง ศุภชลาศัย พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ฯลฯ หรือผู้ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม เช่น นายจำกัด พลางกูร นายทวี ตะเวทิกุล น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ พ.อ. เนตร เขมะโยธิน นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายสุวรรณ รื่นยศ ฯลฯ เพื่อนร่วมงานเหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้ภารกิจเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ บรรลุความสำเร็จ ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงว่าบรรดาเสรีไทยทั้งหลายได้ปฏิบัติภารกิจในความรับผิดชอบอย่างตั้งใจ รอบคอบ เด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ ด้วยความรักชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น