วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย7

การเดินทางจากฐานปฏิบัติการซือเหมาลงมาทางทิศใต้และเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือของนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาได้เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2487 พ.ท. ม.ล. ขาบ กุญชร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเสรีไทยกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้คัดเลือกครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 21 นายให้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยอีกครึ่งหนึ่งให้ประจำอยู่ที่ฐานฯ เพื่อคอยรับสัญญาณวิทยุที่อีกกลุ่มหนึ่งจะรายงานเข้ามา ขณะนั้นทั้งเจ้าหน้าที่ของ โอ.เอส.เอส. และนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาเกือบจะมั่นใจได้แล้วว่าบุคคลผู้เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเสรีไทยสายอเมริกามีแนวโน้มอย่างสูงที่จะยอมรับเป็นประมุขของเสรีไทยทั้งหมดและพร้อมที่จะรับคำสั่งจากบุคคลผู้นั้น อย่างไรก็ตาม การเดินทางโดยทางเท้าจากตอนใต้ของเมืองจีนเข้าสู่ประเทศไทยเต็มไปด้วยความยากลำบากแสนสาหัสและมีอันตรายรอบด้าน จนกระทั่ง ร.ท. สมพงษ์ ศัลยพงษ์ และ ร.อ. การะเวก ศรีวิจารณ์ ต้องสละชีพเพื่อชาติไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ศกนั้น นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาจากซือเหมา เริ่มทยอยเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2487 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ขบวนการเสรีไทยภายใต้นายปรีดี พนมยงค์ สามารถปฏิบัติการได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม บรรดานายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมดแปดนายก็ตกอยู่ในความอารักขาของอธิบดีกรมตำรวจเช่นเดียวกับเสรีไทยสายอังกฤษแปดนายซึ่งล่วงหน้าเข้ามาก่อน ทั้งนี้จนกระทั่ง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ได้ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในปลายเดือนกันยายน 2487 ในช่วงก่อนหน้านั้น นายทหารเสรีไทยจากซือเหมาเพียงผู้เดียวที่หลวงอดุลฯ ได้พาไปพบนายปรีดี พนมยงค์ คือ ร.ท. อานนท์ ณ ป้อมเพชร ในฐานะที่เป็นน้องชายของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นอกนั้นนายปรีดีได้พบหรือได้ร่วมปฏิบัติงานด้วยภายหลังจากที่ พล.ต.อ. อดุลได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยแล้วทั้งสิ้น และเช่นเดียวกัน การส่งวิทยุติดต่อกับฐานปฏิบัติการที่ซือเหมาก็ได้กระทำภายหลังการตัดสินใจของหลวงอดุลเดชจรัส และประสบผลสำเร็จครั้งแรกในวันที่ 5 ตุลาคม ศกดังกล่าว โดยสรุปแล้ว เสรีไทยสายอเมริกาก็เช่นเดียวกับเสรีไทยสายอังกฤษ ใช้เวลาเดินทางหรือรอคอยประมาณครึ่งปีก่อนที่จะได้ทำงานร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ บุคคลที่ทั้งอังกฤษและสหรัฐ ฯ ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าคือตัวแทนของประเทศไทยซึ่งเป็นมิตรกับนานาอารยประเทศต่อเนื่องมาจากวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เช่นเดียวกับ พ.ท. ปีเตอร์ พอยน์ตัน หัวหน้าแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตา ที่เฝ้าคอยฟังข่าวจากเสรีไทยสายอังกฤษที่ได้ส่งเข้าประเทศไทยโดยการกระโดดร่มจากเครื่องบินระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2487 ด้วยความกระวนกระวายใจที่ยังไม่มีการติดต่อใด ๆ ออกมา ในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน พ.อ. ริชาร์ด เฮพพ์เนอร์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดี ซึ่งคอยรับสัญญาณจากเสรีไทยสายอเมริกาที่เริ่มทยอยเดินทางเข้าไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยผิดหวังที่ไม่มีข่าวใด ๆ ออกมา นอกจากข่าวการเสียชีวิตของ ร.อ. การะเวก และ ร.ท. สมพงษ์ ที่เชียงแมน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ก็ได้ขออนุมัติหน่วยเหนือดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดูเรียน ส่ง ร.ท. บุญมากกับ ร.ต. วิมล เข้าประเทศไทยโดยทางเรือดำน้ำให้ไปขึ้นบกที่ตะกั่วป่า แล้วให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ปฏิบัติการดูเรียนดังกล่าวนี้ล้มเหลว เนื่องจากเรือดำน้ำอังกฤษที่นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาทั้งสองนายเดินทางไป ได้เปลี่ยนแผนโดยกะทันหัน ไม่ส่งเสรีไทยขึ้นฝั่ง ซึ่งการนี้จะด้วยเหตุผลที่แท้จริงประการใดก็ตาม ได้ทำให้การปฏิบัติงานในประเทศไทยของสหรัฐอเมริกาต้องเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 สิงหาคม 2487 พ.ท. พอยน์ตัน ได้รับการติดต่อทางวิทยุออกมาจากกรุงเทพฯ โดย ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับคณะแอพพรีซิเอชั่น สามารถส่งวิทยุออกมาได้ และรายงานว่าได้ติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ แล้ว ซึ่งทำให้งานของแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ก้าวล้ำหน้าศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ. -เอส.เอส. เมื่อได้ทราบเรื่องนี้ พ.อ. เฮพพ์เนอร์ จึงได้ตัดสินใจเตรียมแผนปฏิบัติการส่งเสรีไทยสายอเมริกาเข้าประเทศไทยโดยวิธีกระโดดร่มลงจากเครื่องบินในพื้นที่ซึ่งคิดว่าปลอดภัยและเหมาะสม ทั้งนี้โดยไม่มีการเตรียมรับทางพื้นดินแต่ประการใด ประสบการณ์ของกองกำลัง 136 ได้ยืนยันถึงสองคราวว่าการทิ้งร่มโดยปราศจากการเตรียมรับทางพื้นดินมีโอกาสประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายน้อยมาก กระนั้นเฮพพ์เนอร์ก็มิได้ยับยั้ง โดยอาจจะคิดว่าสิ่งใดที่ทางอังกฤษทำไม่ได้ อเมริกันก็ไม่จำเป็นจะต้องทำไม่ได้ด้วย ในการนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการ 404 ได้เรียกตัวนายทหารเสรีไทยรุ่นที่ 2 ซึ่งเคยผ่านการฝึกกระโดดร่มหลายนายมารับการฝึกเพิ่มเติมที่ทรินโกมาลี บนเกาะลังกา เพื่อเตรียมส่งเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตามสำหรับปฏิบัติการ ฮอทฟูท ที่จะส่งเสรีไทยเข้าไปติดต่อกับผู้นำขบวนการเสรีไทยภายในประเทศเพื่อปูทางสำหรับ โอ.เอส.เอส. จะเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น พ.อ. เฮพพ์เนอร์ได้เปิดโอกาสให้นายทหารเสรีไทยที่เดินทางกลับจากปฏิบัติการดูเรียนที่ล้มเหลวตัดสินใจก่อนว่ายินดีจะไปกระโดดร่มลงที่แพร่หรือไม่ ทั้งที่ก็ตระหนักว่านายทหารเสรีไทยดังกล่าวไม่เคยฝึกการกระโดดร่มมาก่อนเลย
ร.ท. บุญมาก เทศะบุตร กับ ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ มีเวลาเตรียมตัวเพียงไม่กี่วันภายหลังที่ได้ทรมานอยู่ในเรือดำน้ำมาเป็นแรมเดือน ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบิน บี.24 ที่สั่งตรงมาจากคุนหมิง ไปกระโดดร่มลงที่บริเวณป่าสูงในอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2487 เพียงสองวันภายหลังปฏิบัติการบริลลิคของกองกำลัง 136 ที่ปล่อยพลร่มเสรีไทยสายอังกฤษ คือ ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ ลงที่หัวหิน-ปราณบุรี โดยมีเสรีไทยภายในประเทศคอยรับที่พื้นดิน เนื่องจาก ฮอทฟูทเป็นปฏิบัติการบุกเบิกของ โอ.เอส.เอส. ดังนั้นจึงไม่มีการคาดหมายว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะสะดวกสบายและเรียบร้อย พลร่มเสรีไทยทั้งสองนายลงสู่พื้นดินในพื้นที่ซึ่งเป็นป่าสูงและหากันไม่พบ ขณะที่ ร.ท. บุญมากเข้าไปในจังหวัดแพร่เพื่อติดต่อกับนายทอง กันทาธรรม และเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ซึ่งนายสงวน ตุลารักษ์ ได้แนะนำไว้ ร.ต. วิมลหาทางออกจากป่าและเข้าหมู่บ้าน และให้ชาวบ้านพาตัวไปอำเภอและจังหวัด จนในที่สุดก็ขอให้ตำรวจภูธรโทรเลขถึง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส โดยแจ้งชื่อจริงให้อธิบดีกรมตำรวจทราบ ซึ่งหลวงอดุลฯ ก็ได้สั่งให้ตำรวจที่แพร่นำตัวลงมาพบในกรุงเทพฯ ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ ได้พบ พล.ต.อ. อดุลในคืนวันที่ 22 กันยายน 2487 และได้แจ้งให้หลวงอดุลฯ ทราบถึงความมุ่งหมายของสหรัฐฯ ที่ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการเสรีไทยทุกรูปแบบ รวมทั้งความสนับสนุนเอกราชของไทยภายหลังสงคราม เพียงขอให้อธิบดีตำรวจร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยและนายปรีดี พนมยงค์ ในคืนวันเดียวกัน พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ก็ได้นำ ร.ต. วิมล วิริยะวิทย์ เข้ารายงานตัวต่อนายปรีดี พนมยงค์ และจากนั้นหลวงอดุลเดชจรัสและตำรวจไทยก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการเสรีไทยอย่างเข้มแข็งและจริงจัง กล่าวโดยสรุปก็คือ ภายในเดือนกันยายน 2487 การประสานงานอย่างเป็นระบบระหว่างขบวนการเสรีไทยภายในประเทศภายใต้นายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส และกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร ทั้งในด้านอังกฤษและด้านสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มขึ้น ซึ่งการนั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าของปฏิบัติการเสรีไทยจากปฏิบัติการที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการกันไปตามลำพังในความมืด ไปสู่ความเป็นเอกภาพที่เชื่อมเครือข่ายของปฏิบัติการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ในวันที่ 5 ตุลาคม ศกนั้น เสรีไทยสายอเมริกาในกรุงเทพฯ ก็สามารถติดต่อกับฐานปฏิบัติการซือเหมา และผ่านต่อไปยังแคนดีได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งทำให้นายปรีดีสามารถติดต่อทางวิทยุกับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. และกับแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ได้เป็นการประจำวัน การติดต่อกับทางสหรัฐฯ ได้โดยตรง ทำให้นายปรีดีมีโอกาสมากขึ้นที่จะดำเนินงานด้านการเมืองที่มีเป้าหมายให้ไทยคงความเป็นเอกราชและมีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ภายหลังที่สงครามได้สงบลงแล้ว
นับตั้งแต่ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งนายจำกัด พลางกูร เล็ดลอดออกไปประเทศจีนตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2486 นายปรีดีได้เริ่มวางแผนการที่จะเล็ดลอดออกไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่อินเดีย ซึ่งอยู่ในภารกิจที่ได้มอบหมายให้นายจำกัดไปเจรจากับทางฝ่ายสัมพันธมิตร ตามแผนการของนายปรีดีนั้น รัฐบาลเสรีไทยที่จะจัดตั้งขึ้นที่อินเดียนั้นจะเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือจะประกอบด้วย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง นายปรีดีได้กล่าวชักชวนนายทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเพิ่งลาออกจากรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย โดยนายปรีดีจะขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายทวีเป็นประธานสภาฯ และจะได้ออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นกับนายปรีดี นายทวีตอบตกลง หากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายทวี บุณยะเกตุ ดังนั้นแผนการจึงได้ชะงักลง และประจวบกับการไม่ได้รับข่าวใด ๆ จากนายจำกัด จึงทำให้นายปรีดีต้องเปลี่ยนแผนไปตามสถานการณ์ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งนายสงวน ตุลารักษ์ และคณะ ไปประเทศจีนเพื่อติดตามเรื่องนายจำกัด และได้มอบให้นายสงวนติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้เข้าใจสถานภาพของประเทศไทยตลอดจนขอความสนับสนุนแก่ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ แต่จากนั้น จนกระทั่งเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในกลางปี 2487 นายปรีดีก็ยังมิได้รับการติดต่อจากโลกภายนอก ซึ่งมีผลทำให้กิจกรรมของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศมิได้มีความก้าวหน้าเท่าใดนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น