วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย8

เมื่อล่วงเข้ามาในปี 2487 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการยกพลขึ้นบกของกองทัพสัมพันธมิตรที่นอร์มังดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายปรีดี พนมยงค์ ก็มองเห็นว่าสงครามในยุโรปคงจะสงบลงในไม่ช้าด้วยการพ่ายแพ้ของเยอรมนี ซึ่งจากนั้นก็จะเริ่มต้นนับถอยหลังไปสู่วันที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนน นอกจากนั้นสาส์นที่กองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่แคนดีให้เสรีไทยสายอังกฤษชุดแอพพรีซิเอชั่นนำมามอบให้ ก็เป็นการเปิดทางให้ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศสามารถทำงานรับใช้ชาติได้กว้างขวาง ซึ่งเป็นโอกาสที่จำเป็นจะต้องฉวยเอาไว้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของปฏิบัติการเสรีไทยที่จะต้องรีบเร่งเพราะเวลามีเหลืออยู่ไม่มากนักสำหรับการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติภายหลังสงคราม ก็คือรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่นำประเทศไทยเข้าเป็นพันธมิตรทางทหารและทางอื่น ๆ กับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งอังกฤษและหลายประเทศในเครือจักรภพอังกฤษก็ได้ประกาศสงครามตอบ ถึงแม้โดยส่วนตัว นายปรีดีจะมีความเข้าใจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดีว่าได้พยายามรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติอีกทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากนายปรีดี ก็เห็นว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กระทำการที่ผิดพลาด โดยไปฟังและเชื่อความเห็นที่ไม่ถูกต้องจากผู้ใกล้ชิดบางคน และไม่ยอมรับฟังการทักท้วงที่มีเหตุผล จนกระทั่งทำให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ในฐานะที่ล่อแหลมต่อการสูญเสียเอกราช อธิปไตย ตลอดจนเกียรติภูมิ เมื่อจะต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามไปกับญี่ปุ่นมหามิตร นอกจากนั้นการรับฟังวิทยุคลื่นสั้นของฝ่ายสงครามจิตวิทยาของสัมพันธมิตร ก็เห็นได้ชัดเจนว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเป้าการโจมตีอย่างรุนแรงของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งหากสงครามสงบลงโดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว ประเทศไทยจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักจากฝ่ายที่ชนะสงคราม สำหรับการติดต่อกับทางกองทัพจีนที่พรมแดนไทยใหญ่-ยูนนาน ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังดำเนินการในช่วงแรกของปี 2487 นั้น แม้นหากว่านายปรีดี พนมยงค์ จะพอทราบระแคะระคายบ้าง ก็เห็นว่าเป็นการติดต่อที่จะหวังผลอะไรไม่ได้เลย อีกทั้งการเชื้อเชิญกองทัพจีนเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อขับไล่ญี่ปุ่น ก็คือการชักศึกเข้าบ้านโดยตรงนั่นเอง ซึ่งยิ่งจะเป็นภัยอันใหญ่หลวง ยิ่งกว่านั้นในขณะนั้นประชาชนและวงการทั่วไปก็เริ่มมีความรู้สึกไม่พอใจจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐบาลในเรื่องภายในประเทศหลายต่อหลายเรื่อง โดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ นายปรีดี พนมยงค์ จึงมีความเห็นว่า เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง มีความจำเป็นโดยรีบด่วนที่จะต้องจัดการให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ และเพิกถอนอำนาจทั้งทางทหารและพลเรือนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เสียโดยสิ้นเชิง
นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปรึกษาหารือกับบรรดาสมาชิกขบวนการเสรีไทยซึ่งเมื่อเข้ามาในปี 2487 ได้ขยายไปรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากจากทุกภาคของประเทศและข้าราชการในหลายหน่วยงานและหลายกระทรวงทบวงกรม ตลอดจนบางส่วนของกองทัพไทยซึ่งมีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ปฏิบัติการเสรีไทยดำเนินไปอย่างกว้างขวางและสนองเจตนารมณ์ในการรับใช้ชาติ และเพื่อการผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อสงครามสงบลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัยซึ่งเกือบจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ การล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ได้กระทำโดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ไปก่อนหน้านั้นสองฉบับ คือ พ.ร.ก. ระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และ พ.ร.ก. จัดสร้างพุทธบุรีมณฑล เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม พล.ท. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ทรงอาจจะรับใบลาออกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไปได้ด้วยเหตุผลส่วนพระองค์ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1 สิงหาคม 2487 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และในวันเดียวกันนั้นเอง นายปรีดีก็ได้แต่งตั้ง พ.ต. ควง อภัยวงศ์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยประธานสภาฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พ.ต. ควง หรือหลวงโกวิทอภัยวงศ์ เป็นนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับนายปรีดีและจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 พ.ต. ควงอยู่ในวงการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาโดยตลอด และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาตั้งแต่รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา และต่อมาในคณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธรรมการ และสุดท้ายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามลำดับ จนกระทั่งได้ขอลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับนายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ก็จะต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดตามสัญญาพันธกรณีที่มีต่อกันไว้ด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นรัฐบาลที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ปฏิบัติการเสรีไทย ซึ่งเห็นว่า พ.ต. ควงมีความสามารถในอันที่จะ ตีหน้ากับญี่ปุ่นได้ สำหรับการงานของรัฐบาลนั้น นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะทำหน้าที่สั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ เป็นคนซื่อตรงและสามารถ อีกทั้งมีอาวุโสในคณะราษฎร เพราะเข้าร่วมในคณะราษฎรตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในปารีสเมื่อปี 2470 ก่อน พ.ต. ควงซึ่งเข้าร่วมในคณะราษฎรในปี 2475 ผู้แทนราษฎรหลายนายสนับสนุนให้นายทวีเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายทวี เป็นผู้พูดตรงไปตรงมาจึงไม่อาจจะคบหากับญี่ปุ่นในขณะที่ปฏิบัติงานเสรีไทยอย่างเต็มตัวในขณะเดียวกันได้
สำหรับรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เลือกสมาชิกขบวนการเสรีไทยแทรกอยู่หลายนาย เช่น นายทวี บุณยเกตุ น.อ. บุง ศุภชลาศัย นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้ญี่ปุ่นวางใจรัฐบาลของ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ ในแง่ความเป็นมิตรกับญี่ปุ่น ก็ได้แต่งตั้ง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน ผู้ซึ่งญี่ปุ่นมีความคุ้นเคย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม 2487 ได้มีประกาศยุบเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่แทน ทั้งนี้โดยให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ต่อมาอีกในวันที่ 13 กันยายน 2488 ภายหลังวันสันติภาพ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เพื่อให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นความเกี่ยวข้องกับราชการโดยสิ้นเชิงระหว่างการรอดูท่าทีของฝ่ายสัมพันธมิตรในการปฏิบัติต่อประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น