ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย2

                  ในขณะที่ เสรีไทย เป็นความร่วมมือและร่วมใจรับใช้ชาติของบรรดาคนไทยผู้รักชาติทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยความสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ การก่อตั้ง ดำเนินการ และอำนวยการ เป็นความรับผิดชอบของบุคคลกลุ่มหนึ่งจำนวนน้อยนิดที่ได้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ปฏิบัติงานอันยิ่งใหญ่เพื่อชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักและหวงแหนภายใต้การนำของรัฐบุรุษไทยซึ่งมีนามว่า นายปรีดี พนมยงค์หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ยอมรับในบรรดาคนไทยเท่านั้น หากในประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีก็ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ไม่เฉพาะในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเท่านั้น แต่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ประชาชนชาวไทย และรัฐบาลอันถูกต้องตามกฎหมายของไทยอันต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสงครามด้วย การยอมรับรัฐบุรุษไทยผู้นี้ในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มี วันสันติภาพและ ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ที่ปลดพันธนาการประเทศไทยจากฐานะของประเทศผู้แพ้สงครามโดยสิ้นเชิง และทำให้เอกราชและอธิปไตยของไทยสามารถคงความบริสุทธิ์ผุดผ่องมาตราบถึงทุกวันนี้
ขบวนการเสรีไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นในวันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย คือวันที่ 8 ธันวาคม 2484 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการดังกล่าวตั้งแต่แรกเริ่ม
คณะผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติไว้ในชั้นแรกสองประการ คือ
1.               ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติและร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (คือ อังกฤษ สหรัฐฯ ฯลฯ)
2.               ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ภารกิจขององค์การเสรีไทยก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ
3.               ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบา
นายปรีดี พนมยงค์ มีความวิตกในภารกิจประการสุดท้ายนี้เป็นอย่างมากและโดยตลอด กล่าวคือได้พยายามที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประเทศผู้แพ้สงครามซึ่งนายปรีดีและผู้ร่วมในขบวนการเสรีไทยมีความมั่นใจว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องชนะสงครามแน่นอนตั้งแต่เมื่อญี่ปุ่นเปิดฉากสงคราม ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกและได้เปรียบในช่วงแรก นายปรีดีมีความเห็นว่าขบวนการเสรีไทยจะต้องทำงานทั้งในด้านการทหาร คือการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น และในด้านการเมืองการทูต คือการทำความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้ได้ว่าการร่วมมือกับญี่ปุ่นเป็นการกระทำของผู้บริหารประเทศเพียงไม่กี่คน ขณะที่คนอื่น ๆ และราษฎรไทยเป็นส่วนรวมต่อต้านญี่ปุ่นและเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร การปฏิบัติงานในด้านใดด้านหนึ่งแต่เพียงด้านเดียวไม่เป็นการพอเพียง ดังจะเห็นว่าในขณะที่นายปรีดีได้จัดตั้งพลพรรคเสรีไทยที่ติดอาวุธขึ้นทั่วประเทศ ก็ได้พยายามติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยการส่งผู้แทนออกไปทำความเข้าใจ และแม้กระทั่งได้ดำริที่จะเล็ดลอดออกไปจัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดก็ปรากฏชัดเจนว่าปฏิบัติการทางทหารของขบวนการเสรีไทย ไม่ว่าจะเป็นพลพรรคภายในประเทศ หรือปฏิบัติการต่าง ๆ ของเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกานั่นเอง ที่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีจนถึงระดับความประทับใจในความห้าวหาญไม่เสียดายชีวิต ตลอดจนความเด็ดเดี่ยว มั่นคงในอุดมการณ์ของบรรดาเสรีไทยเหล่านั้น เป็นตัวแทนเจตนารมณ์อันแท้จริงของราษฎรไทยซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และไทยไม่ต้องถูกยึดครองภายหลังที่สงครามได้สิ้นสุดลง การเจรจาแม้จะช่วยได้บ้าง หากก็เกิดประโยชน์น้อยมาก กล่าวคือในกรณีของสหรัฐฯ ซึ่งเข้าใจดีอยู่แล้ว การเจรจาก็มิได้ช่วยให้เข้าใจดีขึ้น สำหรับในด้านอังกฤษ ซึ่งมีความข้องใจมาแต่แรกเริ่ม ก็มิได้เปลี่ยนทัศนคติอันเป็นผลจากการเจรจา การที่รัฐบาลอังกฤษให้ความเห็นชอบต่อการแนะนำให้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ก็เพราะแม่ทัพอังกฤษมีความประทับใจและเข้าใจคนไทยซึ่งมีเสรีไทยเป็นตัวแทนและมีนายปรีดี เป็นผู้นำ