วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย9

การเปลี่ยนรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2487 ได้ทำให้ปฏิบัติการเสรีไทยในทุกแง่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลใหม่ แม้นจะมิได้เป็นรัฐบาลเสรีไทย แต่ก็เป็นรัฐบาลที่เกื้อหนุน คุ้มครอง และอยู่ในความควบคุมของหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในเดือนสิงหาคมนั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรที่ลังกา และแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตาได้ และต่อมาในเดือนตุลาคมก็สามารถติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดีได้เช่นกัน ในช่วงปลายปี 2487 นั้น ทั้งด้านอังกฤษและด้านสหรัฐฯ ก็ได้ทยอยส่งเสรีไทยในสังกัดเข้าสู่ประเทศไทย คือในด้านสหรัฐฯ ก็เริ่มด้วยปฏิบัติการ อริสทอค ซึ่งพลร่มเสรีไทยสามนายได้ถูกปล่อยลงที่บริเวณดอยอินทนนท์ โดยทางพื้นดินยังไม่พร้อมที่จะรับ เมื่อคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน ขณะที่ปฏิบัติการดูเรียน 2 ก็ได้ส่งเสรีไทยสายอเมริกาสองนายขึ้นจากเรือดำน้ำที่เกาะกระดาน จังหวัดตรัง ในวันที่ 9 เดือนเดียวกัน นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาทั้งห้านายจากปฏิบัติการทั้งสองนี้ต้องถูกเก็บตัวไว้ในค่ายเชลยศึก เนื่องจากญี่ปุ่นทราบเรื่อง อย่างไรก็ดี เสรีไทยจากอริสทอคก็สามารถส่งวิทยุติดต่อโดยตรงกับแคนดีได้ก่อนที่จะเข้าค่ายเชลยศึก สำหรับทางสายอังกฤษ ภายหลังปฏิบัติการบริลลิคที่ส่งพลร่มเสรีไทยสองนายมาลงที่หัวหิน-ปราณบุรี เมื่อคืนวันที่ 7 กันยายนแล้ว ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม เสรีไทยสายอังกฤษอีกสามนายแห่งปฏิบัติการคับปลิงก็ได้ถูกปล่อยลงที่บริเวณอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีการเตรียมรับที่ภาคพื้นดิน นอกจากนั้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2487 นั่นเอง ทางกองกำลัง 136 ก็ได้ส่งเครื่องบินทะเลคาทาลิน่ามารับตำรวจสันติบาลเจ็ดนายที่หลังเกาะตะรุเตาเพื่อเอาไปฝึกในอินเดีย ในระยะนั้นเอง ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรก็ได้แจ้งมายังนายปรีดี ขอให้ส่งคณะผู้แทนไทยไปร่วมปรึกษาหารือด้านปฏิบัติการทางทหารที่แคนดี
ถึงแม้นครึ่งหลังของปี 2487 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการติดต่อประสานงานระหว่างกองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯ กับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่ลังกา ซึ่งได้ประสบความสำเร็จภายหลังที่ได้มีความพยายามของทุกฝ่ายมาเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี ครึ่งแรกของปี 2488 ก็เป็นช่วงเวลาแห่งปฏิบัติการเสรีไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อทดแทนเวลาที่ได้เสียไปเกือบสามปีนับตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยพร้อมกับการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ในระหว่าง 12 เดือนสุดท้ายของสงคราม คือกันยายน 2487-สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ มีภารกิจที่หนักหน่วงที่สุดในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยและในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งการตัดสินใจทุกเรื่องอันเกี่ยวกับความเป็นความตายของชาติอยู่ในความรับผิดชอบของเขาแต่เพียงผู้เดียว
ในด้านปฏิบัติการทางทหาร นายปรีดี พนมยงค์ รับผิดชอบต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ซึ่งกำหนดนโยบายและแผนยุทธการตลอดจนเป้าประสงค์ในแต่ละเรื่อง แล้วแจ้งมาให้กองบัญชาการเสรีไทยรับผิดชอบในการปฏิบัติ ซึ่งมีมาทั้งในด้านอเมริกัน โดยศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดี และในด้านอังกฤษ โดยแผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตา ทางด้านสัมพันธมิตร แผนปฏิบัติการทางทหารจะเน้นไปในด้านข่าวกรอง และการฝึกพลพรรคเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสนองแผนการรุกเพื่อเผด็จศึกของกองทัพสัมพันธมิตรภายใต้แม่ทัพอังกฤษ ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นก่อนสิ้นปี 2488 อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการต่าง ๆ ในประเทศไทยของฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนเสมอไป และนายปรีดีก็ได้ทำการประท้วงปฏิบัติการใด ๆ ของสัมพันธมิตรที่เห็นว่าเป็นการไม่สมควร เช่นเรื่องการทิ้งระเบิดที่อาจเป็นอันตรายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นต้น
เพื่อจะได้ปรึกษาหารือโดยตรงกับนายปรีดี พนมยงค์ และเพื่อจะได้ศึกษาสภาพต่าง ๆ ในประเทศไทยด้วย ทั้งทางอังกฤษและทางสหรัฐฯ ได้ตกลงใจที่จะส่งนายทหารของตนเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในประเด็นนี้ อเมริกันมีความรวดเร็วในการตัดสินใจและในการดำเนินการเหนือกว่าอังกฤษมาก ผู้แทนของ โอ.เอส.เอส. ภายใต้ปฏิบัติการ ฮอทฟูท ได้พบนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เมื่อปลายเดือนกันยายน 2487 และการติดต่อทางวิทยุระหว่างกรุงเทพฯ กับแคนดีเป็นผลสำเร็จเมื่อต้นเดือนตุลาคม ศกเดียวกัน ต่อมาในปลายเดือนมกราคม 2488 นายทหารอเมริกันชุดแรกก็ได้เดินทางเข้ามาพบนายปรีดี พนมยงค์ ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน และนับตั้งแต่เวลานั้น โอ.เอส.เอส. ก็ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการไซเรนขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อประสานปฏิบัติการทั้งหมดของสหรัฐฯ ในประเทศไทย อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างนายปรีดีกับ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดีด้วย สำหรับทางอังกฤษนั้นมีความล่าช้าในการตัดสินใจและในการคัดเลือกตัวบุคคลที่เหมาะสม จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน 2488 เป็นเวลาสามเดือนภายหลังอเมริกา จึงได้ส่งคณะนายทหารอังกฤษเข้ามาพบนายปรีดี พนมยงค์ และต่อมานายทหารอังกฤษก็ได้ตั้งฐานปฏิบัติการในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับ โอ.เอส.เอส. นายปรีดี พนมยงค์ ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้แก่นายทหารสัมพันธมิตรเหล่านั้น รวมทั้งความเป็นอยู่ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น