วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย11

ในเดือนเมษายน 2488 ก่อนที่นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้มีการประชุมเพื่อจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ณ นครซานฟรานซิสโก ซึ่งประเทศที่จะเข้าร่วมประชุมจะต้องเป็นประเทศที่ประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศอักษะ นายปรีดี พนมยงค์ ได้สั่งให้สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แจ้งต่อสหรัฐฯ ว่าขบวนการเสรีไทยพร้อมที่จะลุกขึ้นประกาศสงครามและต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยทันที ทั้งนี้เพื่อจะได้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ความคิดในเรื่องนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพราะทางสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรเกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับกรณีอินโดจีนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่เพิ่งผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ส่งโทรเลขไปให้กำลังใจแก่นายปรีดี มีข้อความว่า
ความพยายามของท่านและของผู้ร่วมงานกับท่านที่จะปลดเปลื้องประชาชาติไทยจากผู้กดขี่ เป็นที่ทราบตระหนักอย่างดี และจะไม่ล้มเหลว ขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จ และขอแสดงความนับถืออย่างอบอุ่นที่สุดมา ณ ที่นี้
ในด้านจุดยืนของอังกฤษต่อประเทศไทยภายหลังสงครามนั้น อังกฤษได้ยินยอมให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งต่อไทยด้วยวาจา ซึ่งนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้จดข้อความนำกลับมารายงานนายปรีดี พนมยงค์ ว่า
1.               อังกฤษถือว่าเป้าหมายสุดท้ายของอังกฤษและสหรัฐฯ เป็นอย่างเดียวกัน (ซึ่งคงหมายถึงเอกราชและอธิปไตยของไทย)
2.               อังกฤษไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความแน่แท้จริงใจของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ ที่ปรารถนาจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร
3.               อังกฤษรู้สึกว่าพึงจะดำเนินการติดต่อกับนายปรีดีโดยตรงต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวในพื้นที่ประเทศไทยที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว
กล่าวโดยสรุปก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ยังไม่ได้รับการยืนยันใด ๆ จากฝ่ายสัมพันธมิตรอันเกี่ยวกับฐานะของประเทศไทยภายหลังสงคราม หากจากการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน ได้ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ได้ทราบว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้เห็นความจริงจังและจริงใจของนายปรีดีและขบวนการเสรีไทย ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติการทางทหารอย่างลับๆก็ดำเนินต่อไปอันได้แก่ การรับอาวุธยุทโธปกรณ์จากสัมพันธมิตรทางเครื่องบิน การเดินทางเข้ามาประเทศไทยของนายทหารอังกฤษและอเมริกันตลอดจนนายทหารเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกา การฝึกและติดอาวุธพลพรรคเสรีไทยที่เพิ่มและขยายจำนวนอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ การส่งเสรีไทยภายในประเทศออกไปรับการฝึกที่อินเดียและลังกา โดยบางนายได้กลับเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย และการรายงานข่าวกรองที่เป็นประโยชน์แก่การทำสงครามของสัมพันธมิตรทั้งให้ปลอดภัยจากญี่ปุ่นและได้รับการส่งออกไป ยิ่งสงครามใกล้จะสิ้นสุดลง การติดต่อระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับฝ่ายสัมพันธมิตรที่แคนดีก็ทวีความใกล้ชิดมากขึ้นจนกระทั่งเป็นเรื่องประจำวัน ทางด้านอังกฤษเดิมใช้ชื่อรหัส บีบี 855สำหรับนายปรีดี ขณะที่ทางอเมริกาใช้คำว่า รูธเป็นชื่อรหัสสำหรับนายปรีดี พนมยงค์
แม้นว่าการติดต่อจะเป็นไปโดยใกล้ชิดกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลอร์ด เมานท์แบตเทน และทางขบวนการเสรีไทยก็ได้พยายามตอบสนองความต้องการของฝ่ายสัมพันธมิตรในทุกวิถีทาง รวมทั้งการส่งนายทหารเสนาธิการ ทั้งด้านทหารบกและทหารอากาศ ไปประจำกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตร ได้แก่ พ.อ. เนตร เขมะโยธิน ประจำอยู่กับฝ่ายอังกฤษ พ.ท. เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน และ น.ท. ทวี จุลละทรัพย์ ประจำอยู่กับศูนย์ปฏิบัติการ 404 ของ โอ.เอส.เอส. นอกจากนั้นก็ยังส่งนักบินจากกองทัพอากาศไทยหลายนายไปช่วยเหลือนักบินสัมพันธมิตรที่บินเข้ามาปฏิบัติการเหนือประเทศไทยเพื่อให้การโจมตีไม่พลาดจุดยุทธศาสตร์ และหลีกเลี่ยงการทำอันตรายประชาชน แต่กระนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังไม่คลายความกังวลใจ การเดินทางไปกรุงวอชิงตันของนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ก็มิได้เกิดผลอะไรมากนัก ในเดือนกุมภาพันธ์ นายปรีดีได้ส่งคณะผู้แทนขบวนการเสรีไทยไปแคนดีตามคำเชิญของผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรซึ่งระบุไว้ล่วงหน้าว่าจะเจรจากันเฉพาะในด้านการทหารโดยไม่เกี่ยวกับการเมือง ผู้แทนคณะดังกล่าวประกอบด้วย นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ และ พล.ท. หลวงชาตินักรบ เสนาธิการทหารบก และนายถนัด คอมันตร์ แห่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะ แต่ปรากฏว่าคณะผู้แทนไทยมิได้พบกับลอร์ด เมานท์- แบตเทน เพียงปรึกษาหารือกับ พล.ต. คอลิน เอช. แมคเคนซี ผู้บังคับการกองกำลัง 136 และนายเอ็ม.อี. เดนิง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นการหารือกันในเรื่องความร่วมมือทางทหาร อย่างไรก็ตามนายดิเรกก็ได้พยายามนำประเด็นด้านการเมืองขึ้นหารือกับนายเดนิง แต่ก็มิได้รับการตอบสนองที่น่าพอใจ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่จะไม่เจรจาเรื่องการเมืองกับไทยในขณะนั้น
ในต้นเดือนพฤษภาคม 2488 เยอรมนีได้ยอมจำนนต่อสัมพันธมิตร ซึ่งย่อมหมายถึงว่าวันที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามได้ใกล้เข้ามาแล้ว ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ได้เพิ่มความระแวงสงสัยประเทศไทยในความเป็นพันธมิตรมากขึ้น และดูเหมือนจะแน่ใจว่าได้มีขบวนการเสรีไทยอย่างเป็นหลักเป็นฐานขึ้น โดยมีการติดต่อรับอาวุธจากสัมพันธมิตร ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ มีความไม่แน่ใจว่าเมื่อใดที่ญี่ปุ่นจะตัดสินใจเข้ายึดประเทศไทยเช่นในกรณีอินโดจีน ดังนั้นนายปรีดีจึงได้ส่งสาส์นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีสาระสำคัญว่า ขบวนการเสรีไทยได้กระทำตามข้อแนะนำของฝ่ายอเมริกาตลอดมาว่าจะไม่ปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยก่อนถึงเวลาอันควร หากบัดนี้ญี่ปุ่นมีความสงสัยมากขึ้น และรัฐบาลไทยขณะนั้นจะลาออก ถ้าญี่ปุ่นยืนยันจะขอกู้เงินจากไทยเพิ่มขึ้น รัฐบาลไทยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่จะประกาศยกเลิกข้อตกลงต่าง ๆ ที่ได้เคยทำกับญี่ปุ่นไว้ รวมทั้งการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ด้วย โดยไทยจะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น ดังนั้นจึงขอแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบเสียก่อน โดยเชื่อว่า
ในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น สหรัฐฯ จะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติด้วย และไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทยซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใด ๆ
และก็ได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังลอร์ด เมานท์- แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรให้ทราบด้วย ความพยายามอีกครั้งหนึ่งของนายปรีดีที่จะประกันความเป็นเอกราชของไทยภายหลังสงครามด้วยการต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย ทำให้ทางสัมพันธมิตรกังวลใจมาก เพราะการนั้นจะกระทบกระเทือนถึงแผนยุทธการของฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังจัดทำขึ้นอย่างรอบคอบที่สุด สาส์นของนายปรีดีดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รับในวันที่ 21 พฤษภาคม 2488 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ส่งโทรเลขตอบนายปรีดี เมื่อวันที่ 28 เดือนเดียวกัน ความว่า
ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งในสารที่ท่านส่งให้รัฐมนตรี เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อต้านศัตรูอย่างแข็งขันที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทางการสหรัฐฯ ได้ย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่เคยถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมก็จะได้ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของไทย
พร้อมกับที่ส่งสาส์นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ข้างต้น นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ส่งพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ สุขุม) ไปกรุงวอชิงตัน โดยมอบหมายให้ไปดำเนินการแก้ไขผ่อนปรนสถานการณ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ให้หนักเป็นเบา โดยหาทางนำข่าวและข้อเท็จจริงไปชี้แจงให้ประชาชนอเมริกันได้ทราบ และขณะเดียวกันก็ขอให้ติดต่อช่องทางที่จะจัดหาสิ่งของที่จำเป็นมาบรรเทาทุกข์ราษฎรไทย และช่วยฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังสงคราม พระพิศาลฯ และหลวงสุขุมฯ ได้เดินทางถึงกรุงวอชิงตันในวันที่ 18 มิถุนายน 2488 และได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนหน้านั้น นายปรีดีได้ส่ง น.อ. หลวงยุทธกิจพิลาส (มี ปัทมนาวิน) ร.ท. ชลิต ชัยสิทธิเวช และนายกุมุท จันทร์เรือง ไปช่วยงานสถานทูตที่วอชิงตัน และมีอีกสองนายที่เดินทางไปพร้อมกับคณะของพระพิศาลฯ คือ นายลักขี วาสิกศิริ และนายแผน วรรณเมธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น