วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย2

ในขณะที่ เสรีไทย เป็นความร่วมมือและร่วมใจรับใช้ชาติของบรรดาคนไทยผู้รักชาติทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้วยความสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ การก่อตั้ง ดำเนินการ และอำนวยการ เป็นความรับผิดชอบของบุคคลกลุ่มหนึ่งจำนวนน้อยนิดที่ได้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ปฏิบัติงานอันยิ่งใหญ่เพื่อชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักและหวงแหนภายใต้การนำของรัฐบุรุษไทยซึ่งมีนามว่า นายปรีดี พนมยงค์หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ยอมรับในบรรดาคนไทยเท่านั้น หากในประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีก็ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ไม่เฉพาะในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเท่านั้น แต่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ประชาชนชาวไทย และรัฐบาลอันถูกต้องตามกฎหมายของไทยอันต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสงครามด้วย การยอมรับรัฐบุรุษไทยผู้นี้ในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มี วันสันติภาพและ ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ที่ปลดพันธนาการประเทศไทยจากฐานะของประเทศผู้แพ้สงครามโดยสิ้นเชิง และทำให้เอกราชและอธิปไตยของไทยสามารถคงความบริสุทธิ์ผุดผ่องมาตราบถึงทุกวันนี้
ขบวนการเสรีไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นในวันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย คือวันที่ 8 ธันวาคม 2484 โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการดังกล่าวตั้งแต่แรกเริ่ม
คณะผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติไว้ในชั้นแรกสองประการ คือ
1.               ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติและร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร (คือ อังกฤษ สหรัฐฯ ฯลฯ)
2.               ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ภารกิจขององค์การเสรีไทยก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ
3.               ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น