วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติหัวหน้าขบวนการเสรีไทย5

ปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น 1 ซึ่งกระโดดร่มลงที่บ้านน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น 2 ที่กระโดดร่มลงที่นครสวรรค์ในวันที่ 3 เมษายน มิได้ส่งข่าวใด ๆ ออกไปให้ทางกัลกัตตาได้ทราบ ทั้งนี้จนกระทั่งกลางเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน จึงมีสายลับนำสารของ ร.ต. ป๋วยที่เขียนไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมและเป็นรหัสที่ต้องถอดออก ซึ่งเป็นข่าวจากกรุงเทพฯ ชิ้นแรกที่แผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตาได้รับ ในสารนั้น ร.ต. ป๋วยได้รายงานว่าทุกคนปลอดภัยและกำลังอยู่ในความอารักขาของตำรวจสันติบาล ตลอดจนให้กัลกัตตาคอยรับฟังสัญญาณทางวิทยุที่จะส่งออกมา ในที่สุดการติดต่อทางวิทยุระหว่างกัลกัตตากับกรุงเทพฯ โดยสถานีวิทยุเจบีเจ ของ ร.ต. ป๋วยหรือในนามตามรหัสว่า เข้มก็เป็นผลสำเร็จในวันที่ 17 สิงหาคม 2487 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไทยจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พ.ต. ควง อภัยวงศ์ แล้วกว่าสองสัปดาห์
เมื่อนายปรีดีได้รับรายงานว่านายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพลร่มที่เครื่องบินสัมพันธมิตรมาปล่อยลงในประเทศไทย และได้ถูกตำรวจนำไปอารักขาไว้ที่สันติบาล ก็ได้ให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ติดต่อกับ ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ นายตำรวจผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลบรรดาเสรีไทยที่เล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทย ให้ช่วยเหลือนำตัว ร.ต. ป๋วยมาพบที่บ้านของนายวิจิตรที่บางเขน ร.ต.อ. โพยม และ ร.ต. ป๋วยเป็นอัสสัมชนิกด้วยกัน ดังนั้นในเวลาไม่ช้า ร.ต. ป๋วยก็ได้พบกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้โดยอธิบดีกรมตำรวจไม่ทราบ
นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีสาส์นจากลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์มามอบให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ (สาส์นดังกล่าวนี้อาจทำเป็นไมโครฟิล์ม เช่นเดียวกับในกรณีที่ พ.ต. ม.จ. ศุภสวัสดิวงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ได้ให้ผู้เดินสารจากจุงกิงนำไปมอบให้แก่นายปรีดีเพื่อนัดหมายการรับเสรีไทยสายอังกฤษที่จะมาขึ้นบกที่พังงาเมื่อปลายปี 2486) ในลักษณะเป็นการให้กำลังใจและเสนอความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหารโดยให้มีการติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2487 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณสี่เดือนเต็ม ๆ นั้น คณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษทั้งหกนาย และต่อมาเพิ่มขึ้นอีกสองนายที่เข้าประเทศไทยทางเรือดำน้ำที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ตั้งแต่ปลายปี 2486 อยู่ในความอารักขาของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรองนายกรัฐมนตรี โดยมิได้ปฏิบัติงานใด ๆ และเครื่องรับส่งวิทยุที่เอาเข้ามาด้วย ทางตำรวจก็เก็บเอาไปและไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2487 โดยเป็นรัฐบาลที่มีนายปรีดี พนมยงค์ ฯ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยอยู่เบื้องหลัง คณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษซึ่งมี ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหัวหน้าชุด ก็ได้รับอนุญาตให้ส่งวิทยุติดต่อกับฐานทัพที่อินเดียได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ยังมิได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย การรับส่งวิทยุต้องกระทำโดยปกปิดมิให้ พล.ต.อ. อดุลทราบ ทั้งนี้โดยความช่วยเหลือของ พ.ต.ต. โพยม จันทรัคคะ สารวัตรตำรวจสันติบาลที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้ดูแลเสรีไทยจากนอกประเทศ ในที่สุดสถานีวิทยุเจบีเจของ ร.ต. ป๋วยก็สามารถติดต่อกับกัลกัตตาและแคนดีได้ในเดือนสิงหาคม 2487 ซึ่งหมายถึงการเชื่อมกิจการเสรีไทยภายในประเทศกับปฏิบัติการของกองกำลัง 136 แผนกประเทศสยามได้เป็นครั้งแรก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2487 นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรได้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 กันยายน 2487 ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ พร้อมด้วยสาส์นของลอร์ด เมานท์แบตเทน และสัมภาระ ก็ได้กระโดดร่มลงที่บริเวณหัวหิน-ปราณบุรี โดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบให้นายชาญ บุนนาค และหลวงบรรณกรโกวิทไปจัดการรับเข้ากรุงเทพฯ ทั้งนี้โดยทาง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ไม่ทราบเช่นกัน
ข่าวการเดินทางมาประเทศจีนของนายจำกัด พลางกูร ในฐานะตัวแทนขององค์การใต้ดินในประเทศไทย ได้รับทราบในกรุงวอชิงตันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2486 ภายหลังที่กลุ่มนายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ได้ออกเดินทางจากบัลติมอร์สู่อินเดียไม่กี่วัน และก่อนที่ พ.ท. ม.ล. ขาบ กุญชร จะบินจากสหรัฐฯ ไปเตรียมรอรับที่จุงกิง ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.ล. ขาบ กุญชร ความลังเลใจในการยอมรับความเป็นจริงที่เกี่ยวกับนายจำกัดในส่วนของอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน การกีดกันของฝ่ายหน่วยสืบราชการลับของจีนที่ไม่ต้องการให้ทางอเมริกันได้ติดต่อโดยตรงกับผู้แทนจากองค์การใต้ดินจากเมืองไทย และแม้กระทั่งความเฉยเมยในส่วนของ โอ.เอส.เอส. ต่อการเดินทางมาจุงกิงของนายจำกัดเหล่านี้ ทั้งในแต่ละประเด็นและทั้งที่เกี่ยวพันกัน ได้ทำให้นายจำกัดไม่สามารถจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางด้านอเมริกันเลย แม้กระทั่ง ม.ล. ขาบจะใช้ความพยายามใด ๆ ในจุงกิงอยู่เป็นเวลานาน ก็ไม่อาจจะทราบว่านายจำกัดอยู่ที่ใดในเมืองเดียวกัน
ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2486 ภายหลังที่รอฟังข่าวจากนายจำกัด พลางกูร ที่ทราบว่าได้เดินทางไปถึงเมืองจีนแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ศกเดียวกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับข่าวความคืบหน้า นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจส่งผู้แทนขององค์การใต้ดินออกไปประเทศจีนอีกคณะหนึ่ง ประกอบด้วย นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 และผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังและครอบครัว นายแดง คุณะดิลก นักเรียนกฎหมายอังกฤษ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายกระจ่าง ตุลารักษ์ น้องชายนายสงวน และนายวิบูลย์วงศ์ วิมลประภา อดีตนักเรียนฝรั่งเศส โดยนายสงวนและนายแดงเป็นผู้แทน ส่วนผู้อื่นเป็นผู้ติดตาม นายสงวน ตุลารักษ์ และคณะ เดินทางถึงจุงกิงในเดือนกันยายน ซึ่งขณะนั้นคณะนายทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ 1 ได้เดินทางมาถึงจุงกิงแล้ว นายสงวนและ ม.ล.ขาบได้พบกับนายจำกัด พลางกูร ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยหนัก และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ศกเดียวกัน การเดินทางมาถึงจุงกิงของนายสงวน ตุลารักษ์ กับคณะ เป็นการยืนยันความจริงที่ว่าได้มีองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นหรือเสรีไทยในประเทศไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้า และขบวนการนี้ประสงค์จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้พ้นประเทศไทย คณะเสรีไทยที่จุงกิงได้ทดสอบดูแล้วเห็นว่านายสงวนกับคณะมีความจริงใจ ดังนี้จึงได้ร่วมกันแสดงเจตนาที่จะสละเงินเดือนมอบให้ทาง โอ.เอส.เอส. เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยทางเครื่องบินของนายสงวน ตุลารักษ์ และนายแดง คุณะดิลก จากจุงกิงไปวอชิงตัน นายสงวนและนายแดงเดินทางถึงกรุงวอชิงตันในปลายเดือนพฤศจิกายน 2486 และพำนักอยู่ในกรุงวอชิงตันประมาณสามเดือนจึงเดินทางข้ามไปอังกฤษ และสุดท้ายทาง โอ.เอส.เอส. ได้ส่งไปช่วยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการ 404 ที่เมืองแคนดี ลังกา สำหรับนายแดง คุณะดิลก นั้น เมื่อทางอังกฤษสามารถติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้ทางวิทยุเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2487 แผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ก็ได้ทำเรื่องขอตัวนายแดงมาช่วยปฏิบัติงานทางอังกฤษ โดยกำหนดจะให้กระโดดร่มลงในไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น